ในแต่ละวันเราจะพบกับความขัดแย้ง และข่าวของความขัดแย้งทั้งในองค์การ และสังคมทั่ว ๆ ไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนระหว่างประเทศ ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครปรารถนา แต่ก็เป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ตราบใดที่มนุษย์ยังมีชีวิตอยู่และอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมดังที่เหมาเจ๋อตง กล่าวไว้ว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีความขัดแย้งก็ไม่มีโลก” ดังนั้นผู้เขียนจึงเสนอบทความนี้เพื่อท่านผู้อ่านได้ทำความเข้าใจในเรื่องความหมาย และแนวคิดเกี่ยวกับความขัดแย้ง อันนำไปสู่การปรับแนวคิดให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุขถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งกัน
ความหมายของความขัดแย้ง
ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ขัดแย้ง (หน้า 137) เป็นคำกิริยา หมายถึง ไม่ทำตาม ฝ่าฝืน ขืนไว้ แย้งกัน ไม่ลงรอยกัน(หน้า 675) เป็นคำกิริยา หมายถึง ไม่ตรงหรือลงรอยเดียวกัน ต้านไว้ ทานไว้
ความขัดแย้ง หมายถึง สถานการณ์ที่คนมีความเห็น ความเชื่อไม่ตรงกัน และตกอยู่ในภาวะที่ไม่อาจจะตกลงหาข้อยุติที่น่าพอใจได้ทั้งสองฝ่าย หากปล่อยปละละเลย ไม่หาทางทำความเข้าใจอาจก่อให้เกิดความแตกแยก อิจฉาริษยา ซึ่งมีผลกระทบไปถึงความเสื่อมโทรมของหน่วยงานได้
ความขัดแย้งขององค์การ คือ ความไม่เห็นพ้องต้องกันระหว่างสมาชิก หรือกลุ่มขององค์การสองกลุ่ม หรือมากกว่าเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับว่า พวกเขาจะต้องมีส่วนร่วมในทรัพยากรที่จำกัด หรืองานต่าง ๆ หรือพวกเขามีความแตกต่างในด้านสถานภาพ เป้าหมาย ค่านิยม การรับรู้ ทัศนคติ ความเชื่อซึ่งแตกต่างกันและไม่เห็นพ้องต้องกัน ต่างก็พยายามแสดงทัศนะของพวกเขาให้เด่นกว่าบุคคลอื่น หรือความต้องการของเขาไม่ได้รับการตอบสนอง
สรุปความว่า ความขัดแย้ง เป็นการต่อสู้ดิ้นรนระหว่างผู้ที่ไม่ลงรอยกัน (ทั้งบุคคลหรือกลุ่ม) ในด้านความต้องการ ความปรารถนา ความคิด และผลประโยชน์ ความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลหรือกลุ่มที่เผชิญหน้าไม่สามารถหาข้อยุติที่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายได้ ความขัดแย้ง เป็นพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องต้องกัน ระหว่างกลุ่มที่มีความสนใจต่างกัน